"ตำหนิพระ" พระล้านนา เพื่อนผู้รักพระเครื่องทุกท่าน เวปแห่งนี้จัดทำขึ้นเพื่อมอบความรู้แด่ทุกท่านที่สนใจ ตำหนิ พระดัง พระใหม่มาแรง เพื่อเป็นวิทยาทาน ผิดพลาดประการใดขอโปรดอภัยด้วยครับ
วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
ครูบาสุรินทร์ สุรินโท เหรียญรุ่นแรก
พระครูวิมลศรีลาภรณ์ (ครูบาสุรินทร์ สุรินโท) เดิมเมื่อยังเป็นฆราวาสมีชื่อว่าเด็กชายสุจา เสมอใจ เกิดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2441 ตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำเดือนเกี๋ยงเมือง ปีเส็ด จุลศักราช 1260 ณ บ้านศรีเตี้ย แขวงป่าซาง เมืองลำพูน มณฑลพายัพ บิดาชื่อ พ่อทิพย์ มารดาชื่อ แม่จันตา มีพี่น้องร่วมครรภ์เดียวกัน 7 คน เด็กชายสุจาเป็นคนที่ 5 มีพี่ชาย 3 คน พี่สาว 1 คน และมีน้องสาว 2 คน
เมื่อยังเป็นเด็กชายสุจา ท่านมีสุขภาพสมบูรณ์ และมีความจำเป็นเลิศ ตอนอายุ 7 – 8 ขวบ ได้ออกเลี้ยงควายตามประสาลูกชาวนา ฝูงควายในท้องทุ่งจำนวนมาก ท่านสามารถแยกแยะออกและบอกได้ว่าควายตัวใดมีใครเป็นเจ้าของ และควายตัวใดเป็นลูกของแม่ควายตัวไหนด้วย ข่าวนี้ทราบถึงครูบาตุ้ย ญาณวิชโย เจ้าอาวาสวัดศรีเตี้ย ท่านครูบาคิดเห็นว่า เด็กน้อยสุจานี้เติบโตขึ้นจะเป็นบุรุษที่จะช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาได้ จึงเรียกหาตัวและชักชวนให้เข้าวัด เป็นเด็กวัดศรีเตี้ยเมื่ออายุได้ 9 ขวบตั้งแต่นั้นมา เด็กชายสุจาได้เล่าเรียนอักขระล้านนา (ตั๋วเมือง) จนสามารถจำและอ่านพระธรรมคัมภีร์ต่างๆ ได้ดี เมื่ออายุครบ 13 ปี ในปี พ.ศ.2453 ก็ได้บรรพชาในสำนักครูบาตุ้ย ญาณวิชโย วัดศรีเตี้ย สามเณรสุจาตั้งใจอุตสาหะพากเพียรท่องจำ และทำความเข้าใจ สามเณรสิกขา เสขิยวัตร และปฏิบัติเคร่งในศีลสามเณร 10 ประการ ทั้งท่องจำสวดมนต์สิบสองตำนานได้ด้วย
ครูบาตุ้ย ญาณวิชโย เจ้าอาวาสวัดศรีเตี้ย มีความคิดเห็นว่าสามเณรสุจาสนใจในการเล่าเรียน และพากเพียรปฏิบัติศีลธรรมกรรมฐาน จึงส่งเสริมเสริมศิษย์โปรดให้ไปเรียนในสำนักครูบาไชยลังกา วัดศรีชุมผามงัว เมืองลำพูน ซึ่งสามเณรสุจาก็ได้เรียนภาษาสยาม จากครูบาอาจารย์ในสำนักเรียนนี้ และได้ร่ำเรียนมูลกัจจายนะ สัททาสนธิ อันเป็นหลักสูตรภาษาบาลีระบบการศึกษาล้านนาในอดีตด้วย แต่การเรียนภาษาสยาม และบาลีมูลกัจจายนะของสามเณรไม่ก้าวหน้า เพราะท่านสนใจวิชชาวิปัสสนามากกว่า ท่านจึงลาออกจากสำนักครูบาไชยลังกา ไปศึกษาเล่าเรียนวิชชาวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในสำนักครูบากันธา คนธวํโส วัดต้นผึ้ง แขวงป่าซาง เมืองลำพูน
ถึงปี พ.ศ.2462 สามเณรสุจาอายุได้ 21 ปี ครบปีบวชเป็นพระภิกษุ ท่านก็กลับมาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดศรีเตี้ย ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน (ตำบลบ้านโฮ่งได้ยกฐานะเป็นอำเภอบ้านโฮ่ง เมื่อ พ.ศ.2499) ครูบาตุ้ย ญาณวิชโย เจ้าอาวาสวัดศรีเตี้ย เป็นพระอุปัชฌายะ พระอธิการคำ คมภีโร วัดร้องธาร อำเภอป่าซาง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการกันธา คนธวํโส วัดต้นผึ้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาที่พระอุปัชฌาอาจารย์ตั้งให้ว่า พระภิกษุสุรินทร์ สุรินโท เมื่อบวชอยู่ได้ 5 พรรษา ท่านก็ได้นิสสัยมุตตกะ จึงได้พร้อมกับกัลยาณมิตรขอท่าน ได้แก่ พระปันแก้ว รตนปญโญ (ครูบาปันแก้ว วัดปทุมสราราม) พระพรหมมา พรหมจกโก (ครูบาพรหมจักร วักพระบาทตากผ้า) พระจันโต กาวิชโย (ครูบากาวิชัย วัดวังสะแกง) พระคำ คนธิโย (ครูบากันธิยะ วัดดงหลวง) และพระอุ่นเรือน สิริวิชโย (ครูบาอุ่นเรือน วัดสันเจดีย์ริมปิง) เป็นสหธรรมมิกภิกขุปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ธุดงค -วัตร ออกจาริกไปบำเพ็ญเพียร และอนุสาสน์สั่งสอนหลักการปฏิบัติ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแก่พุทธบริษัทในแขวงต่างๆ ของเมืองลำพูน และหัวเมืองใกล้เคียงเป็นเวลา 3 ปี
ถึงปี พ.ศ.2470 เมื่อครูบาตุ้ย ญาณวิชโย เจ้าอาวาสวัดศรีเตี้ย ถึงแก่มรณภาพ ในปีที่พระสุรินทร์ สุรินโท มีอายุได้ 29 ปี 8 พรรษา ท่านก็ทำหน้าที่ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีเตี้ย และได้จัดงานทำบุญถวายเพลิงศพครูบาตุ้ย ญาณวิชโย พระอุปัชฌายะ เสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2474 แล้ว เจ้าคณะเมืองลำพูน กับผู้สำเร็จราชการเมืองลำพูน ได้ออกตราตั้งให้พระสุรินทร์ สุรินโท ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระอธิการสุรินทร์ สุรินโท ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีเตี้ย ให้มีหน้าที่เจ้าอาวาสตามมาตรา 13 และมีอำนาจปกครองวัดตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 และท่านก็สืบทอดแบบอย่างขนบธรรมเนียมปกครองวัดตามอย่างครูบาตุ้ย ญาณวิชโย ผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านด้วย ตลอดเวลาที่เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีเตี้ย ก็สั่งสอนพระภิกษุสามเณร เน้นหนักอบรมทางวิปัสสนาธุระ และสั่งสอนอบรมศรัทธาชาวพุทธของวัด ทางสมถกัมมัฏฐานพอเป็นทางสงบใจ ทั้งเป็นผู้อำนวยการทางคันถธุระแผนกปริยัติธรรมนักธรรมและบาลี ส่วนด้านสาธารณูปการท่านเพียงแต่บูรณะปฏิสังขรณ์และก่อสร้างเสนาสนะสงฆ์ สถานพุทธาวาสที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น เพราะอัธยาศัยของท่าน เป็นพระสมณที่ดำรงตนสมถะเรียบง่าย ฉันน้อย ใช้น้อย แต่ทำประโยชน์ใหญ่
ครูบาสุรินทร์ สุรินทเถระ ได้อุทิศตนบูชาพระพุทธศาสนา โดยมั่นอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์และศรัทธาชาวพุทธให้ดำรงตนในศีลธรรมคำสั่ง สอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เป็นศาสนิกชนที่ดีของพระศาสนา เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ ท่านเทศนาสั่งสอนปลูกฝังความรักซึ่งกันและกัน ในยามตกทุกข์ได้ยาก เจ็บไข้ได้ป่วย ยามแก่เฒ่าชรา และให้รักกันแม้จะมีใส่ร้ายยุแหย่ให้แตกสามัคคีก็ไม่มีแหนงหน่ายกัน ความรักอันนี้เป็นรากฐานศิลา แห่งเมตตาของมนุษย์ อันภาระพระพุทธศาสนาทั้งสองประการที่ท่านได้กระทำบำเพ็ญมาถึงขีดจรรโลงพระ พุทธศาสนา เป็นผลให้พระพุทธศาสนาตั้งอยู่สืบต่อจิระฐิติกาล ทราบถึงพระคณาธิการฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ระดับแขวง เมือง มณฑล ฉะนั้นในปี พ.ศ.2481 ขณะที่ท่านสุรินทร์อายุได้ 40 ปี 19 พรรษา จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสมณศักดิ์ชั้นประทวน (จปร.) นามว่า พระครูสุรินทร์ สุรินโท และพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี เจ้าคณะมลฑลพายัพ ได้นำพัดยศประทวน (จปร.) มามอบให้ท่านท่ามกลางสังฆสันนิบาต ณ พระวิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ซึ่งพร้อมกับนำ พระมหาสำรี (อมร) (พระสุเมธมังคลาจารย์) มาเป็นพระคณาจารย์ประจำสำนักเรียนเมืองลำพูน กาลเวลาล่วงไปอีก 40 ปี ถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จฯพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า รัชกาลที่ 9 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2521 พระครูสุรินทร์ สุรินโท ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรพัดยศชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาที่ พระครูวิมลศรีลาภรณ์ ในขณะที่ครูบามีอายุได้ 80 ปี 59 พรรษา
พระครูวิมลศรีลาภรณ์ เป็นพระเถระที่มีความเจริญพร้อมด้วยชนมายุ ด้วยคุณธรรม ความรู้ ความสามารถเป็นเถรัตตัญญู ทรงไว้ซึ่งศีลาธุคุณ สมาธิคุณ และวิปัสสนาคุณ รอบรู้แตกฉานในกิจพระศาสนา แบบแผนประเพณี เปี่ยมด้วยเมตตาพรหมวิหาร จึงมีกิตติศัพท์ปรากฏไกล เป็นครูฐานิยบุคคลที่พึ่งที่เคารพของอเนกศิษย์ศรัทธาสาธุชนทั่วไป ทั้งในจังหวัดลำพูนและต่างจังหวัดทั่วประเทศ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น